โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หรือ Ocular Myasthenia Gravis เป็นภาวะที่เปลือกตาหรือหนังตาหย่อนลงมากกว่าปกติ จากการที่กล้ามเนื้อตาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ยิ่งในปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอโทรศัพท์เป็นเวลานาน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากโรคนี้จะมีผลด้านความสวยงามแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และบุคลิกภาพได้อีกด้วย ทำให้หลายคนมองหาแนวทางแก้ไขโรคนี้
แน่นอนว่าในบทความนี้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ Atita Clinic จะพาคุณมาทำความรู้จักกับอาการของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาหนังตาตก ตาปรือ หรือดวงตาอ่อนล้าง่าย ได้ทราบถึงสาเหตุ และวิธีแก้ไข และสามารถกลับมามั่นใจได้ดังเดิม
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาการเป็นอย่างไร?
Table of Contents
• หนังตาตก
หนังตาตก เป็นอาการที่อาจขึ้นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในภายหลัง โดยเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่เกิด จะมีลักษณะตาตก ตาปรือ เพราะกล้ามเนื้อตาไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ สังเกตได้จากขอบตาบนที่คลุมปิดตาดำมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ในบางรายยังอาจมีการมองเห็นที่ผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งมักจะทำให้เด็กชอบเอียงหรือแหงนคอเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น
ในส่วนของคนที่เกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในภายหลัง มักจะเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อตาเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อตายืดออกจนไม่สามารถออกแรงเปิดตาได้อย่างเต็มที่ รวมถึงทำให้หนังตาตกปิดทับตาดำมากกว่าปกติ ส่งผลให้ตาปรือ ตาดูไม่เท่ากัน ดูง่วงอยู่ตลอดเวลา
• ลืมตาไม่ขึ้น หรือ ลืมตาได้ไม่เต็มที่
หากเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง กล้ามเนื้อตาลีเวเตอร์ที่ทำหน้าที่ยกเปลือกตาบนขึ้น จะสูญเสียความแข็งแรง ทำให้ไม่สามารถลืมตาได้เต็มที่ ลืมตายาก หรือลืมตาไม่ขึ้น หากมองปกติโดยไม่พยายามเบิ่งตาก็จะทำให้ดูตาปรือ เหมือนคนอดนอน ในกรณีที่เป็นข้างเดียวก็จะทำให้ตาทั้งสองข้างเปิดไม่เท่ากัน ทำให้ดูไม่สวยงาม รวมถึงส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ และความมั่นใจ
• ปัญหาการเลิกคิ้ว/หน้าผาก
เมื่อหนังตาตกทับตาดำมากเกินไปจนทำให้การมองเห็นลดลง มักจะเกิดภาวะติดการเลิกคิ้ว เลิกหน้าผาก แหงนคอ หรือเอียงคอ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะทำให้เกิดปัญหาริ้วรอยบริเวณหน้าผาก คิ้วโก่ง หรือชั้นตาไม่เท่ากันได้
• เบ้าตาลึกกว่าปกติ
คนที่เป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ไขมันใต้เปลือกตาจะหายไป จนทำให้มีเบ้าตาลึกที่ดูชัดกว่าปกติ ตาโหล ดูโทรม ดูมีอายุ และดูง่วงตลอดเวลา
ระดับของโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
โดยปกติแล้ว ขอบตาบนจะคลุมปิดตาดำลงมาไม่เกิน 1-2 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าหากเป็นโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จะสามารถสังเกตได้จากระดับของขอบตาบน ดังนี้
- กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงระดับเริ่มต้น: ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำ 2-3 มิลลิเมตร
- กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงระดับกลาง: ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำ 3-4 มิลลิเมตร
- กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงระดับรุนแรง: ขอบตาบนจะปิดลงมาคลุมตาดำมากกว่า 4 มิลลิเมตร ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจากสาเหตุอะไร?
• พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
สำหรับคนที่ต้องใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวันโดยไม่ได้พักสายตา รวมถึงคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนล้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
• ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการหลั่งสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ (โรค MG – Myasthenia Gravis) โดยร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้บางชนิดขึ้นมายับยั้งหรือทำลายโปรตีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่อยู่บริเวณรอบต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ จนทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการอ่อนแรง มักจะพบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากต้องใช้สายตาในการจ้องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
ทั้งนี้หากสงสัยว่าเข้าข่ายโรค MG ควรจะรีบเข้าไปปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อประเมินอาการและรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะโรค MG ไม่ได้ส่งผลต่อการมองเห็นเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายได้อีกด้วย
• การผ่าตัดตาสองชั้นที่ผิดพลาด
การทำศัลยกรรมตาสองชั้นกับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ จนทำให้การผ่าตัดไปกระทบโดนกล้ามเนื้อตา หรือการได้รับอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบบริเวณเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อตา หรือบริเวณเปลือกตา ก็อาจจะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
นอกจากนี้การศัลยกรรมตาสองชั้นโดยใช้วิธีผูกปมไหมไม่ละลายไว้ใต้ผิวตา ซึ่งอาจมีปมไหมขวางการทำงานของกล้ามเนื้อตา และมีความเสี่ยงที่ปมไหมจะหลุดออกจนทำให้เหลือตาสองชั้นเพียงข้างเดียว ทำให้ตาทั้งสองข้างดูไม่เท่ากัน และนำไปสู่โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้เลยทีเดียว
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแก้ยังไงให้หายเป็นปกติ?
การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง มีทั้งการดูแลกล้ามเนื้อตาด้วยตัวเอง และเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
- บริหารกล้ามเนื้อตาโดยกลอกตาขึ้นบน แล้วลงล่าง กลอกตาไปทางซ้าย ทางขวา ทำซ้ำ 2 รอบต่อวัน
- ปรับโฟกัสดวงตา โดยใช้ปากกาหรือนิ้วมือยื่นไปข้างหน้าให้อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง แล้วเลื่อนเข้าหาดวงตาช้า ๆ เมื่อเห็นเป็นภาพซ้อนให้กลับไปเริ่มใหม่ ทำซ้ำวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20 รอบ
- แก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงโดยการผ่าตัดเพื่อปรับระดับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตา ซึ่งมักจะเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงร่วมกับการทำตาสองชั้นในบางกรณี เพื่อตกแต่งหนังตาและเย็บชั้นตาให้ชัดเจน ตาดูกลมโตเป็นธรรมชาติ