สิวหิน คือ สิวแบบไหน? อันตรายไหม ? สิวชนิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ลักษณะเป็นแบบไหน เรามีคำตอบมาบอกกัน เชื่อว่าหลายคนไม่รู้จักสิวชนิดนี้ ก่อนที่จะไปเจาะลึก อทิตาคลินิก ขอแนะนำสิวชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัยก่อน เพื่อแยกชนิดของสิวให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เช่น สิวหัวดำ ลักษณะมีหัวเป็นสีดำที่เห็นได้ชัดเจน คล้ายสิวเสี้ยนแต่เม็ดใหญ่กว่า ส่วนสิวหัวช้าง คือ สิวที่มีการอักเสบมีลักษณะเม็ดใหญ่บางรายอาจมีหนองด้วย, สิวเสี้ยน มักพบสิวชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณจมูกมากที่สุด มีหัวสีดำเล็ก ๆ และสิวข้าวสาร มีลักษณะเม็ดเล็ก ๆ ไม่ค่อยพบว่ามีหัวสิว บางรายอาจจะหายไปเอง บางรายมีอาการลุกลามไปเป็นหลุมสิว จนต้องรักษาโดยแพทย์ และสิวหิน ซึ่งเป็นสิวอีกหนึ่งชนิดที่สามารถพบได้บ่อย วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงสิวชนิดนี้กัน
สิวหินคืออะไร?
Table of Contents
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จัก สิวหิน หรือ ทางการแพทย์เรียกว่า Syringoma จะมีลักษณะที่ไม่คล้ายสิวมากนัก จะคล้ายกับหูดเนื้อ หรือติ่งเนื้อเล็ก ๆ มากกว่า เพราะไม่มีหัวสิว สาเหตุการเกิดสิวชนิดนี้ คือ ต่อมเหงื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติ ลักษณะจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ มีสีกลมกลืนกับผิวหนัง สิวหิน ไม่มีอันตรายแม้จะดูคล้ายติ่งเนื้อ ไม่มีหัวหนองหรือไขมัน ไม่สามารถบีบออกได้เหมือนสิวทั่วไป แต่ก็สร้างความไม่สบายใจได้ เพราะมักเกิดขึ้นบนใบหน้ามากว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะใต้ตา การจำกัดสิวหิน นิยมใช้การทำเลเซอร์เพราะได้ผลเร็ว และปลอดภัย หรือบางรายที่มีขนาดสิวหินที่เล็ก ก็อาจเลือกรักษาด้วยยารักษาสิวได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
สิวหินกับสิวข้าวสาร ต่างกันยังไง?
สิวข้าวสารคู่แฝดของสิวหินที่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าทั้งสองชนิดนี้เป็นสิวชนิดเดียวกัน จริง ๆ แล้วสิวข้าวสาร ทางการแพทย์เรียกว่า Milia หรือซีสต์ไขมันใต้ผิวหนัง ศัพท์ทางแพทย์เรียกว่า Subaceous Cyst การเกิดของสิวข้าวสาร เกิดจากการอุดตันของเซลล์ใต้ผิวหนัง และเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมสภาพ สิวชนิดนี้มีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กแข็ง มีสีขาวคล้ายเม็ดข้าวสาร มักจะเกิดบนใบหน้า และกระจาย ไม่ขึ้นแบบเม็ดเดี่ยว ๆ ที่ว่าเป็นคู่แฝดของสิวหิน เพราะลักษณะของสิวดูเผิน ๆ จะมีความคล้ายกันนั่นเอง จำง่าย ๆ คือ สิวข้าวสารมีหัวบีบออกได้ และตอนที่เกิดสิวจะมีอาการเจ็บหรืออักเสบ ส่วนสิวหินจะเป็นเม็ดไม่มีหัว ไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ
สิวหินเกิดจากอะไร?
สิวหิน เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมเหงื่อ ที่มีการจับกลุ่มกันใต้ผิวหนัง รวมตัวกับเนื้อเยื่อไฟบรัส (Fibrous stroma) ที่ทำให้เกิดเป็นตุ่มนูนออกมาบนผิวหนัง นอกจากนี้เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ก็สามารถเกิดสิวชนิดนี้ได้เช่นกัน ปัจจัยหลักในการเกิดสิวหินที่พบบ่อย คือ พันธุกรรมเป็นสาเหตุหลักของสิวชนิดนี้ อีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ การใช้ยาบางชนิดต่อเนื่อง เช่น ยาในกลุ่ม ไฮโดรควิโนน, ฟลูออโรยูราซิล และสเตียรอยด์ ในระยะเวลานาน หรือแพ้ยาเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดสิวหินได้ และสาเหตุอื่น ๆ เช่น การอักเสบของผิวหนัง, การติดเชื้อบางชนิด และบางสาเหตุที่ทางการแพทย์ยังระบุไม่ได้ว่าทำให้เกิดสิวชนิดนี้ได้โดยตรง เช่น การเสียดสีของผิวหนัง หรือการขัดหน้าสครับหน้าบ่อย ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุที่คาดไม่ถึงว่าจะทำให้เกิดสิวหินได้เช่นกัน
บริเวณที่มักจะเกิดสิวหิน
บริเวณที่เกิดสิวหินพบมากที่สุด คือ ใบหน้า โดยเฉพาะใต้ดวงตา และยังสามารถเกิดในบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น หน้าอก, หลัง, หรือบริเวณที่โดนแดดบ่อย ๆ เช่น แขนและขา รวมทั้งบริเวณที่มีการเสียดสีเป็นประจำ เช่น ขาหนีบ รักแร้ และข้อพับ ก็สามารถเกิดสิวหินขึ้นได้
วิธีรักษาสิวหิน
ปัจจุบันการรักษาสิวหินเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการแพทย์ที่ทำให้กำจัดสิวชนิดนี้ได้เร็ว และปลอดภัย สามารถรักษาในคลินิกเสริมความงามได้ แต่อย่างไรก็ตามควรต้องทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเท่านั้นเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษา ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการรักษาสิวหิวให้เลือกหลายแบบ เช่น
การรักษาด้วยเลเซอร์ (laser Treatment)
การรักษาสิวด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดในการจัดการกับสิวหิน ที่มีความปลอดภัยสูง ไม่ทิ้งร่องรอยหรือบาดแผล โดยแพทย์จะประเมินการเลือกใช้ระดับของเลเซอร์ที่เหมาะสม เลเซอร์จะทำลายเนื้อเยื่อของสิวหิน และทำให้สิวหินหลุดลอกออกไปโดยไม่มีแผล แต่อาจจะมีอาการแสบ, มีรอยบวมแดง, มีสะเก็ดรอยสิวเล็ก ๆ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ และทำครั้งเดียวก็เห็นผล ที่สำคัญแสงเลเซอร์ที่ยิงจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับเนื้อข้างเคียง
การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrosurgery)
วิธีนี้จะคล้ายกับการเลเซอร์ แต่การใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าจะเป็นการใช้ความร้อนจากไฟฟ้าทำลายเส้นเลือดในก้อนเนื้องอกให้สิวหินฝ่อไป จะเป็นการตัดเนื้อเยื่อ และทำลายเซลล์ของสิวหินโดยตรง กำจัดสิวหินได้โดยการทำเพียงครั้งเดียว อาจจะมีการบวมแดงบ้างเล็กน้อยหลังทำ แต่ก็จะหายเองได้ โอกาสการเกิดแผลเป็นจะค่อนข้างน้อยเหมือนกับการทำเลเซอร์
การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Excision)
สำหรับวิธีนี้จะเหมาะกับการจัดการกับสิวหิน ที่มีขนาดใหญ่คล้ายเนื้องอก แพทย์ประเมินแล้วว่า ไม่สามารถใช้เลเซอร์ หรือ เครื่องจี้ไฟฟ้า ได้จริง ๆ ถึงจะเลือกทำหัตถการผ่าสิวชนิดนี้ออก เพราะวิธีการผ่าตัด ถือว่าค่อนข้างมีความเสี่ยงในเรื่องของการติดเชื้อหลังทำ หากดูแลแผลหลังการผ่าตัดไม่ดีพอ และอาจมีรอยแผลเป็นได้ ยิ่งหากมีประวัติเป็นแผลคีลอยด์ แพทย์จะไม่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะอาจมีแผลเป็นที่ใหญ่บนใบหน้าได้
สรุปเกี่ยวกับสิวหิน
สิวหิน แม้ไม่อันตรายแต่ก็สร้างความรำคาญ และลดทอนความมั่นใจ หากเกิดขึ้นบนใบหน้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ในปัจจุบันการรักษาสิวชนิดนี้ทำได้สะดวก ไม่น่ากลัว ไม่ต้องพักฟื้น แต่อาจจะต้องอาศัยการดูแลสภาพผิวหลังทำตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งเป็นล้วนเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก แต่หลังจากรักษาหายแล้วก็ควรดูแลสภาพผิวต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำในบริเวณอื่น ๆ หากมีปัญหาเรื่องสิวและผิวพรรณ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง หรือปรึกษาบริการสถานเสริมความของ อทิตาคลินิก เรามีทีมแพทย์ดูแลตลอดพร้อมให้คำแนะนำและคำปรึกษาได้ฟรี