หลุมสิวมีกี่แบบ เกิดจากอะไร ควรรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
Table of Contents
หลุมสิว ปัญหาผิวที่ไม่มีหนุ่ม ๆ สาว ๆ คนไหนอยากเป็น เนื่องจากหลุมสิวถือเป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่รักษาได้ยาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูผิวมากพอสมควร นอกจากนี้ ผิวหน้าที่ดูไม่เรียบเนียนยังทำให้ผู้ที่มีปัญหาหลุมสิวขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตอีกด้วย ดังนั้น การหาวิธีรักษาที่จะช่วยลดปัญหาหลุมสิวที่มีอยู่ และลดโอกาสการเกิดหลุมสิวในอนาคต จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้กลับมาได้
ซึ่งในบทความนี้ เราจะพาคุณมาทำความรู้จักว่า หลุมสิวเกิดจากอะไร มีกี่แบบ รวมถึงแนวทางการรักษาที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดหลุมสิวในอนาคตอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาหลุมสิวมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า วิธีรักษาแบบใดที่เหมาะกับคุณมากที่สุด
หลุมสิวคืออะไร
หลุมสิว (Atrophic Scars) คือ รอยแผลเป็นที่หลงเหลือจากการเป็นสิวอักเสบหรือสิวขนาดใหญ่ เช่น สิวหัวช้าง สิวหนอง รวมถึงสิวที่ได้รับการรักษาไม่สมบูรณ์และแผลสมานได้ไม่เต็มที่ จนทำให้เกิดเป็นหลุม ที่มีลักษณะเป็นรอยบุ๋มในผิว และมีผิวที่ดูไม่เรียบเนียนเท่ากัน
หลุมสิวเกิดขึ้นจากอะไร
หลุมสิว เกิดจากสิวที่มีการอักเสบ และเป็นแผลอยู่บริเวณผิวชั้นใน ซึ่งโดยปกติแล้วหลังจากสิวหาย ร่างกายจะมีกระบวนการซ่อมแซมผิวหนัง ผ่านการผลิตคอลลาเจนออกมารักษาบริเวณที่มีการอักเสบ เพื่อทดแทนคอลลาเจนที่ถูกทำลายไป และลดการเกิดรอยแผลเป็นจากสิว ภายในเวลา 7-10 วัน
แต่หากผิวมีการอักเสบอย่างรุนแรง หรือกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ร่างกายก็จะไม่สามารถผลิตคอลลาเจนที่ช่วยลดการเกิดรอยแผลเป็นจากสิวออกมาทดแทนส่วนที่ถูกทำลายไปได้อย่างเพียงพอ ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อเกิดการหดรัดตัว จนเกิดหลุมสิวหรือรอยแผลเป็นบนใบหน้า
นอกจากนี้ การรักษาสิวที่ผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นการบีบสิว การกดสิว ก็มีส่วนทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดการอักเสบจนก่อให้เกิดแผลเป็นหลังจากสิวยุบได้
สิวแบบไหนที่ทำให้เกิดหลุม
ลักษณะของสิวที่สามารถทำให้เกิดหลุมสิวได้ มีดังนี้
- สิวหัวช้าง (Cust) สิวขนาดใหญ่ที่มีหนองและเลือดปนอยู่ภายในหัวสิว ต้องใช้เวลารักษานานและอาจเกิดการอักเสบบริเวณผิวหนังที่เป็นสิวได้
- สิวอักเสบรุนแรง (Pustule) หรือสิวหัวหนอง เป็นสิวที่มักจะทำลายเซลล์ผิวที่อยู่ใต้ผิวหนังและคอลลาเจนในชั้นผิว หากรักษาไม่ถูกวิธีก็อาจจะทิ้งแผลเป็นจากสิวหรือหลุมสิวเอาไว้ได้
- สิวที่ติดเชื้อแบคทีเรียจนลุกลามทั่วชั้นใต้ผิวหนัง (Nodule) หรือสิวอักเสบแดงเป็นก้อนลึก มักเกิดจากการบีบหรือกดสิว จนทำให้แบคทีเรียและน้ำมันในสิวแตกกระจายอยู่ใต้ผิวหนัง และทำให้เกิดการอักเสบบวมแดงรุนแรง
หลุมสิวมีกี่ประเภท
การแบ่งประเภทของหลุมสิว จะวัดจากระดับความรุนแรง โดยสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
- หลุมสิว Rolling Scar – ความรุนแรงระดับทั่วไป หลุมสิว Rolling Scar เป็นหลุมสิวระดับทั่วไป ซึ่งจะมีลักษณะเป็นหลุมตื้น ๆ เว้าลงไปไม่ลึก อยู่เพียงช่วงผิวส่วนบนเท่านั้น สามารถใช้ยาทาเพื่อเติมเต็มเนื้อผิวได้
- หลุมสิว Box Scar – ความรุนแรงระดับปานกลาง หลุมสิว Box Scar จะมีลักษณะเป็นบ่อ มีขนาดกว้าง และเห็นขอบหลุมได้อย่างชัดเจน โดยจะมีความลึกในระดับชั้นผิวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังอาจพบพังผืดเกาะติดในชั้นหนังแท้ร่วมด้วย แต่ยังสามารถรักษาด้วยการทายาควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ได้
- หลุมสิว Ice Pick Scar – ความรุนแรงระดับสูงสุด หลุมสิว Ice Pick Scar เป็นหลุมสิวที่มีหลุมลึก ปากหลุมแคบ เกิดจากการกดหรือบีบสิวอุดตันจนสิวกินเนื้อไปจนถึงชั้นรูขุมขน และทำลายลึกลงไปถึงชั้นผิวหนังแท้ ทำให้คอลลาเจนที่ช่วยลดรอยแผลหายไปด้วย ต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และต้องรักษาควบคู่หลายวิธี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ และทำให้หลุมตื้นขึ้น
วิธีรักษาหลุมสิวให้หายขาด
ในปัจจุบันมีวิธีรักษาหลุมสิวหลากหลายวิธีให้เลือกตามระดับความรุนแรงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งบางกรณีอาจจะต้องใช้วิธีรักษาควบคู่กันไป เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยมีวิธีรักษาหลุมสิวให้เลือกทั้งหมด 7 วิธี ดังนี้
1. รักษาด้วยการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ หรือวิตามินเอ
การรักษาหลุมสิวด้วยการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ หรือวิตามินเอ จะช่วยปรับโครงสร้างบริเวณผิวชั้นบนให้ดูเรียบเนียน ผลัดเซลล์ผิว พร้อมกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวและคอลลาเจน ทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดการอักเสบของสิวได้อีกด้วย เหมาะกับหลุมสิวประเภท Rolling Scar เพราะยังเป็นหลุมสิวตื้น ๆ
ข้อควรระวัง: การใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัช และควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแห้ง แสบผิว ผิวแดง หรือผิวลอก ที่สำคัญคือ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ห้ามใช้สารกลุ่มนี้ เพราะจะทำให้เด็กในครรภ์เกิดอันตรายได้
2. การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser)
การเลเซอร์หลุมสิว เป็นวิธีรักษาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน โดยเลเซอร์จะเข้าไปผลัดเซลล์ผิวเก่า พร้อมกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวและคอลลาเจนขึ้นใหม่ ทำให้ผิวชั้นบนดูเรียบเนียน และหลุมสิวดูตื้นขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหารูขุมขนกว้างได้อีกด้วย ซึ่งการเลือกใช้เลเซอร์ในการรักษา ก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะหลุมสิวของแต่ละคน และมักจะทำประมาณ 4-6 ครั้งขึ้นไป และเว้นระยะห่างในการรักษาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ชั้นผิวมีระยะเวลาในการสร้างคอลลาเจนและอิลาสตินใหม่มาทดแทนส่วนที่ถูกทำลาย
ข้อควรระวัง: หลังจากการรักษาด้วยเลเซอร์ ผิวจะมีความไว้ต่อแดด และอาจมีอาการผิวแดง ตกสะเก็ด หรือผิวลอก ซึ่งต้องใช้เวลาพักฟื้น ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้หน้าในทันที
3. การรักษาด้วยการกรอผิว (Dermabrasion)
เป็นการรักษาด้วยการนำเกล็ดอัญมณีที่มีขนาดเล็กมากรอผิวหนังบริเวณที่เป็นหลุมสิว เพื่อผลัดเซลล์ผิวและกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมา การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยเรื่องหลุมสิวที่มีความกว้างแต่ค่อนข้างตื้นได้ดี และยังสามารถช่วยลดรอยสิว จุดด่างดำต่าง ๆ ให้จางลงได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง: เป็นการกรอผิวหนังส่วนที่เป็นแผลออก ทำให้ผิวหนังบางลง จนอาจเกิดการระคายเคืองผิวได้ ที่สำคัญคือต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำ และต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานพอสมควร
4. การรักษาด้วยการตัดพังผืด (Subcision)
การรักษาด้วยการตัดพังผืด เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปบริเวณที่เกิดหลุมสิวและทำการตัดพังผืดใต้ผิวหนังออก เพื่อทำการซ่อมแซมเซลล์ผิวขึ้นใหม่อีกครั้ง เหมาะกับผู้ที่มีหลุมสิวเป็นบริเวณกว้างทั่วทั้งใบหน้า หรือเป็นหลุมสิวชนิด Rolling Scar และ Box Scar ซึ่งการรักษาวิธีนี้จะเห็นผลชัดเจนเมื่อทำติดต่อกัน 3-5 ครั้ง และจะต้องเว้นระยะเวลาในการทำ 3-6 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ และช่วยเติมเต็มหลุมสิวให้ดูตื้นขึ้นด้วย โดยสามารถทำควบคู่กับการฉีดฟิลเลอร์รักษาหลุมสิวเพื่อให้เห็นผลลัพธ์เร็วขึ้นได้เช่นกัน
ข้อควรระวัง: เป็นวิธีที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อหาดูแลแผลได้ไม่ดีพอ หรืออาจมีรอยแผลใหม่จากการรักษาได้ นอกจากนี้ยังอาจมีผลข้างเคียงหลังทำ เช่น อาการบวม เขียว ช้ำ เป็นต้น
5. การรักษาด้วยการฉีดเมโสหลุมสิว
การฉีดเมโสหลุมสิว หรือฉีดมาเด้คอลลาเจนหลุมสิว เป็นการฉีดตัวยาเมโสที่มีสารสกัดต่าง ๆ เช่น คอลลาเจน, โคเอนไซม์, กลูต้าไธโอน, ทรานซามิน และวิตามินชนิดต่าง ๆ ที่ช่วยลดรอยดำบนใบหน้า กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว รวมถึงช่วยกระชับรูขุมขน ทำให้ดูตื้นขึ้น เหมาะสำหรับหลุมสิวที่มีความรุนแรงไม่มาก ซึ่งหลังฉีดจะรู้สึกได้ว่าผิวดูชุ่มชื้น อิ่มน้ำ และดูเรียบเนียนยิ่งขึ้น
ข้อควรระวัง: ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ต่าง ๆ และป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลจากการรักษาไม่ถูกวิธี
6. การรักษาด้วยการฉีดฟิลเลอร์ (Fillers Injection)
การฉีดฟิลเลอร์หลุมสิว เป็นการแก้ปัญหาหลุมสิวแบบเร่งด่วน โดยจะเป็นการฉีดสารเติมเต็มประเภท Hyaluronic Acid เข้าไปบริเวณที่เป็นหลุมสิว เพื่อเติมเต็มให้หลุมดูตื้นขึ้น ซึ่งหลังจากการฉีดฟิลเลอร์จะสามารถเห็นผลทันทีประมาณ 70% โดยไม่ต้องพักฟื้น ไม่ว่าจะเป็นผิวกระชับ เรียบเนียน และดูชุ่มชื้นอิ่มน้ำ ที่สำคัญคือสามารถใช้หน้าได้ทันที เหมาะกับคนที่ต้องการเห็นผลลัพธ์แบบเร่งด่วน
ข้อควรระวัง: สำหรับผู้ที่มีปัญหาหลุมสิวแบบพังผืด จำเป็นจะต้องมีการรักษาด้วยการตัดพังผืดร่วมด้วย ซึ่งจะต้องเลือกทำกับแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น เพื่อให้หลุมสิวดูตื้นขึ้นในทันที และป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผล
7. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Punch Excision)
การผ่าตัดหลุมสิว เป็นการรักษาที่เหมาะกับหลุมสิว Ice Pick Scar และหลุมสิว Box Scar โดยความกว้างของหลุมสิวไม่ควรกว้างเกิน 3 มิลลิเมตร เพราะหากกว้างกว่านี้ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นตามมาได้ โดยการรักษาด้วยการผ่าตัด จะเป็นการใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก ตัดบริเวณหลุมสิว และดึงขอบ 2 ข้างที่เป็นผิวปกติมาเย็บติดกัน ซึ่งเมื่อผิวมีบาดแผลเกิดขึ้น กระบวนการผลิตคอลลาเจนก็จะถูกกระตุ้น และพังผืดต่าง ๆ ก็จะถูกทำลายไป ทำให้สามารถเห็นผลการรักษาได้อย่างชัดเจน
ข้อควรระวัง: หลังจากการผ่าตัด 1 สัปดาห์ ผู้ทำการรักษาจะต้องมาตัดไหม และใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อให้รอยจางลง ในระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดประมาณ 2 สัปดาห์ และห้ามโดนน้ำอย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้ยังไม่ควรแต่งหน้าบริเวณที่ทำการผ่าตัด เพื่อให้ผิวฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ และป้องกันไม่ให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิว
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิวที่ดีที่สุด คือการระวังไม่ให้เกิดสิว หรือหากมีสิวแล้วก็ต้องรีบรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ จนนำไปสู่การเกิดรอยแผลเป็นหรือหลุมสิวได้ โดยวิธีป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิว มีดังนี้
- ห้ามแกะ หรือบีบสิว เพราะเป็นการทำร้ายผิวชั้นในจนทำให้แผลหายยาก และต้องใช้เวลานานในการสมานแผล ทำให้อาจเกิดพังผิดจนกลายเป็นหลุมสิวได้
- ล้างเครื่องสำอางก่อนนอนทุกคืน ควรเช็ดเครื่องสำอางให้สะอาดด้วยคลีนซิ่ง และใช้โฟมล้างหน้าทุกครั้งก่อนนอน เพื่อป้องกันการอุดตันของเครื่องสำอางจนทำให้เกิดสิว
ดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมรอบตัว ควรเปลี่ยนเครื่องนอน หมอน ผ้าห่มต่าง ๆ ที่ใช้งานเป็นประจำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการหมักหมมของฝุ่น และแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
อทิตาคลินิกมีทีมแพทย์คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับหลุมสิวที่เราได้รวบรวมมา เชื่อว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีปัญหาหลุมสิว และต้องการหาแนวทางในการรักษา ซึ่งทางที่ดี ก่อนเข้ารับการรักษาควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมกับประเภทของหลุมสิวที่เป็นอยู่ ซึ่งที่ Atita Clinic เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และหากคุณไว้ใจให้ Atita Clinic ดูแล รับรองได้เลยว่า จากประสบการณ์กว่า 20 ปีที่ผ่านมาของเราจะไม่ทำให้คุณผิดหวังอย่างแน่นอน